มาทำความรู้จักกับ Body Combat กันเถอะ

in บทความเพื่อสุขภาพและการออกกำลังกาย

เชื่อว่าหลายคนที่ออกกำลังกายอยู่เสมอ บางครั้งบางทีอาจจะรู้สึกเบื่อหน่ายกับการออกกำลังกายในลักษณะซ้ำๆ เดิมๆ ที่เคยทำอยู่ทุกวัน จนในบางครั้งก็พาลให้รู้สึกไม่อยากไปออกกำลังกายได้ Body Combat จึงเป็นทางเลือกของการออกกำลังกายรูปแบบใหม่ ที่จะช่วยทำให้รู้สึกสนุก และลบเลือนความเบื่อหน่ายที่เคยมีไปได้ การออกกำลังกายชนิดนี้สามารถทำได้ทุกเพศทุกวัย และที่สำคัญก็คือ สามารถทำให้มีสุขภาพที่ดีและดูแข็งแรงได้ ไม่แพ้กับการออกกำลังกายรูปแบบอื่นๆเลย

บอดี้คอมแบท (Body Combat)” เป็นการออกกำลังกายแนวใหม่ที่ใช้ท่าพื้นฐานของการต่อสู้หลายๆ ชนิด ทั้งมวยไทย คาราเต้ ไทชิ หรือชิกง มาปรับให้กลายเป็นท่าเต้นสนุกๆ ที่เข้ากับจังหวะเสียงเพลง

บอดี้คอมแบท อาจเรียกอีกชื่อว่าเป็นการออกกำลังกายแบบ ‘Fighting Aerobic’ ซึ่งเป็นการออกแรงโดยอาศัยการผสมผสานกับศิลปะการต่อสู้ที่มีการออกแบบท่าทางออกมาอย่างชัดเจน และเพิ่มบรรยากาศให้น่าสนใจมากขึ้นโดยมีเสียงเพลงเป็นส่วนประกอบ ผู้ที่ออกกำลังกายด้วยบอดี้คอมแบท จึงได้ทั้งการออกแรง ออกเสียง และเต็มไปด้วยความตื่นเต้น เร้าใจ และฮึกเหิม ตลอดเวลา ทำให้สามารถปลดปล่อยพลังภายในตัวเองออกมาได้อย่างเต็มที่

การเล่นบอดี้คอมแบทมีผลให้อวัยวะทุกๆ ส่วนในร่างกายได้เคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ฝึกให้กล้ามเนื้อแข็งแรง บริหารข้อต่อตามอวัยวะต่างๆ ให้คล่องตัว และเผาผลาญพลังงานหรือไขมันส่วนเกิน อีกทั้งยังเป็นการบริหารการหายใจ การทำงานของปอดและกล้ามเนื้อหัวใจได้เป็นอย่างดี

โดยวิธีการเล่นจะเริ่มต้นจากการวอร์มเบาๆ ทั้งร่างกายส่วนบนและส่วนล่าง ก่อนจะเร่งจังหวะให้เร้าใจมากขึ้นเพื่อเริ่มเข้าสู่การใช้ทักษะการต่อสู้ด้วยการชก เตะ หรือต่อย ซึ่งจังหวะเพลงจะค่อยๆ ไต่ระดับความยากมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้เล่นจึงต้องพยายามควบคุมจังหวะการออกอาวุธให้สัมพันธ์กับจังหวะเสียงเพลงให้มากที่สุด หรือทำให้การเคลื่อนไหวทั้งแขนและขาสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกัน และในตอนท้ายที่สุดก็จะปรับจังหวะดนตรีให้ช้าลง เพื่อกระชับกล้ามเนื้อและปรับร่างกายให้กลับเข้าสู่สภาวะปกติดังเดิม ซึ่งหากสามารถเล่นบอดี้คอมแบทได้ต่อเนื่องครบทั้ง 9 แทรค ก็จะทำให้ อวัยวะทุกส่วนของร่างกายได้เคลื่อนไหวอย่างเท่าเทียมกัน เนื่องจากท่าออกกำลังกายในแต่ละแทรค จะเป็นการบริหารร่างกายแต่ละส่วนที่มีความแตกต่างกันออกไป  การออกกำลังกายแบบเต็มรูปแบบ จึงเป็นการช่วยให้อวัยวะทุกๆส่วนได้ออกแรงแบบเต็มที่มากที่สุด

บอดี้คอมแบทเป็นการออกกำลังกายสำหรับบุคคลทุกเพศทุกวัย ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้หญิง หรือผู้ชาย แต่ยกเว้นไว้สักนิดในผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับกระดูก เนื่องจากการออกกำลังกายด้วยวิธีนี้จะมีการเคลื่อนไหวอวัยวะที่รวดเร็วและค่อนข้างรุนแรง ผู้ป่วยโรคดังกล่าวจึงอาจได้รับบาดเจ็บจากการออกท่าทางเหล่านี้ได้

ส่วนสาวๆคนไหนที่อยากเรียนรู้วิชาการป้องกันตัว บอดี้คอมแบทก็เป็นอีกทางเลือกที่จะทำให้สาวๆได้เรียนรู้ถึงท่าทางการต่อสู้ ไม่ว่าจะเป็น การตั้งการ์ด การปล่อยหมัดแย้บไปข้างหน้า การต่อยหมัดครอสจากช่วงหัวไหล่ การต่อยหมัดตรง การต่อยหมัดฮุค การต่อยหมัดเสยปลายคาง การเตะไปข้างหน้า การเตะไปข้างๆ การเตะกวาด การตีเข่า หรือแม้กระทั่งการกระโดดเตะ เป็นต้น
หากเกิดเหตุการณ์ร้ายขึ้นจริง สาวๆ จะได้ไม่ต้องหวังพึ่งแต่เพียงโชคชะตาหรือรอให้ใครมาช่วย เพราะตัวเราก็สามารถต่อสู้ได้อย่างเต็มที่เช่นกัน

ในส่วนของประโยชน์ต่อร่างกาย จะสังเกตได้อย่างชัดเจนเมื่อคุณออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องสัปดาห์ละประมาณ 3-4 ครั้ง โดยสิ่งที่จะมีผลต่อร่างกายก็มีหลากหลายประการ ได้แก่ การช่วยให้ร่างกายรู้สึกกระตือรือร้น ตื่นตัวอยู่เสมอ และสร้างความแข็งแรงทนทานแก่ร่างกาย ส่วนไขมันที่สะสมอยู่ใต้ชั้นผิวหนังก็จะค่อยๆ ถูกเบิร์นให้หายไป ทำให้กล้ามเนื้อกระชับ ดูมีทรวดทรงองค์เอวมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ทั้งกล้ามเนื้อหัวใจและระบบการทำงานของสมอง ก็จะถูกพัฒนาให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นเช่นกัน ทำให้การไหลเวียนของโลหิตเป็นไปได้อย่างสมบูรณ์ ส่วนสมองก็ถูกพัฒนาให้มีไหวพริบที่ดีมากขึ้นด้วย ส่วนสุดท้ายก็คือ การพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์  ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด และทำให้อารมณ์ดีได้

 
อย่างไรก็ตาม การออกกำลังกายแบบบอดี้คอมแบท ถือเป็นการออกกำลังกายที่ค่อนข้างหนัก ผู้ที่เริ่มเล่นระยะแรกจึงอาจจะรู้สึกเหนื่อยจนทนไม่ได้ ซึ่งหากรู้สึกว่าร่างกายไม่ไหว ก็ไม่ควรฝืน แต่ควรหยุดพักเป็นระยะๆ เพื่อสร้างความแข็งแรงให้เพิ่มขึ้นทีละน้อย และเมื่อผ่านการออกกำลังกายไปได้สักระยะหนึ่งแล้ว ร่างกายก็จะสามารถปรับตัวได้เอง ทำให้รู้สึกเหนื่อยช้าลง เล่นได้นานมากขึ้น  และนั่นก็จะเป็นช่วงเวลาที่สามารถเผาผลาญไขมัน หรือกระชับกล้ามเนื้อได้ดีที่สุดนั่นเอง

ขอบคุณที่มาข้อมูล https://www.สุขภาพน่ารู้.com/’บอดี้คอมแบท’-เล่นง่ายไม่มีเบื่อ/

ภาพจาก http://www.resolvefitness.com.au

ใส่ความเห็น